°
, November 25, 2024 in
Breaking News
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ย้ำความมุ่งมั่นของไทยในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนระหว่างการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ ๕๒ – TN24
ข่าวระดับโลก
0

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ย้ำความมุ่งมั่นของไทยในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนระหว่างการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ ๕๒ – TN24

เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถ้อยแถลงผ่านวีดิทัศน์ในการประชุมระดับสูง (high-level segment) ระหว่างการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council – HRC) สมัยที่ ๕๒ ณ นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ โดยมีผู้แทนระดับสูงทั้งในระดับผู้นำประเทศและรัฐมนตรีเข้าร่วมกว่า ๑๕๐ ประเทศ

ในโอกาสครบรอบ ๗๕ ปีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและ ๓๐ ปีของปฏิญญาเวียนนาและแผนปฏิบัติการ (Vienna Declaration and Programme of Action : VDPA) ไทยได้ย้ำความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมถึงแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีของไทย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิทางสุขภาพ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตัวแบบเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ความคืบหน้าในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย การมีปฏิสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ เปิดเผย และสร้างสรรค์กับกลไกพิเศษภายใต้ HRC OHCHR รวมถึงกลไกด้านสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ การเข้าร่วมในกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนรายประเทศ (Universal Periodic Review – UPR) รอบที่ ๓ รวมถึงความคืบหน้าในการดำเนินการตามข้อเสนอแนะที่ไทยได้ตอบรับและคำมั่นโดยสมัครใจภายใต้กระบวนการ UPR

รนรม./รมว.กต. ได้กล่าวว่า ศัตรูหลัก ๓ ประการของสิทธิมนุษยชน ได้แก่ (๑) สงคราม (๒) ความขัดแย้งภายในทางการเมืองและเศรษฐกิจ และ (๓) วิกฤติหลักสามประการที่โลกกำลังเผชิญ (สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง มลพิษ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ) ซึ่งประชาคมระหว่างประเทศต้องมีแนวคิดที่ก้าวหน้าและสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาดังกล่าว

นอกจากนี้ รนรม./รมว.กต. ได้ประกาศการลงสมัครสมาชิก HRC วาระปี ค.ศ. ๒๐๒๕ – ๒๐๒๗ ของไทย ซึ่งปัจจุบันไทยได้รับการรับรองจากทุกประเทศอาเซียนให้เป็นผู้สมัครของอาเซียนด้วยแล้ว โดยการสมัครสมาชิก HRC ของไทยเป็นการเน้นย้ำความมุ่งมั่นที่ไทยจะร่วมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในประเทศ ในภูมิภาคและทั่วโลก ตลอดจนมีส่วนร่วมในการปรับปรุงระบบการทำงานของ HRC ให้มีประสิทธิภาพและความโปร่งใส เพื่อสอดรับกับความท้าทายที่ซับซ้อนขึ้น

Human Rights Council จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๙ โดยข้อมติสมัชชาสหประชาชาติ เพื่อเป็นกลไกหลักของสหประชาชาติในด้านสิทธิมนุษยชน ตั้งอยู่ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ มีสมาชิก ๔๗ ประเทศ จาก ๕ กลุ่มภูมิภาค ทั้งนี้ ไทยเคยเป็นสมาชิก HRC ๑ สมัย ระหว่างปี ๒๕๕๓ – ๒๕๕๖

อ่านถ้อยแถลงฉบับเต็มได้ที่นี่



แหล่งข่าว:
กระทรวงการต่างประเทศ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *