การศึกษาไม่นานนี้คาดการณ์ว่าการละลายตัวของน้ำแข็งในกรีนแลนด์จะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นอย่างน้อย 27 เซนติเมตรภายในปี 2100 ซึ่งน่าจะสูงกว่าที่หน่วยงานของสหประชาชาติเคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ถึงสองเท่า
รายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพของภูมิอากาศของเมื่อปีที่แล้วคาดการณ์ว่า ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้น 6-13 เซนติเมตรภายในปี 2100
นักวิจัยได้ศึกษาความแตกต่างระหว่างปริมาณน้ำแข็งที่สะสมบนธารน้ำแข็งกรีนแลนด์กับปริมาณน้ำแข็งที่ละลายตามขอบของธารน้ำแข็ง หิมะที่ตกบนภูเขาของกรีนแลนด์ไหลลงมาหล่อเลี้ยงธารน้ำแข็งเหล่านั้น แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หิมะตกน้อยลงและน้ำแข็งละลายมากขึ้น ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าเรื่องดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่สมดุล และการละลายตัวของน้ำแข็งก็มีมากกว่าปริมาณน้ำแข็งที่สะสมอยู่ด้วย
นักวิจัยกล่าวว่า แม้ว่าอุณหภูมิโลกจะไม่สูงกว่าระดับปัจจุบัน แต่น้ำแข็งตามขอบแผ่นน้ำแข็งในกรีนแลนด์จะยังคงละลายอยู่ต่อไป
Richard Alley นักธรณีวิทยาที่มหาวิทยาลัย Penn State University ซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษานี้กล่าวว่า น้ำแข็งที่ละลายนั้นคล้ายกับการที่การใส่ก้อนน้ำแข็งลงไปในถ้วยชา และว่าขนาดของธารน้ำแข็งจะยังคงลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากพวกมันอยู่ในสภาพอากาศที่อุ่นขึ้น เช่นเดียวกับก้อนน้ำแข็งที่จะละลายหากถูกใส่ลงในชาอุ่น ๆ
นักวิจัยคาดการณ์ว่า น้ำแข็ง 3.3% ของกรีนแลนด์จะละลาย และผู้เขียนรายงานคนหนึ่งคาดการณ์ว่า น้ำแข็งมากกว่า 110 ล้านล้านตันกำลังจะละลายลงอีกด้วย
William Colgan ผู้ช่วยเขียนรายงานการศึกษานี้ ซึ่งกำลังศึกษาธารน้ำแข็งที่การสำรวจทางธรณีวิทยาของเดนมาร์กและกรีนแลนด์ ได้อธิบายถึงน้ำแข็งในลักษณะนี้ว่า เป็นน้ำแข็งที่ตายแล้ว และกำลังจะละลายและหายไปจากแผ่นน้ำแข็ง
ทั้งนี้ นักวิจัยใช้วิธีการเดียวกันกับที่ใช้ศึกษาการสูญเสียน้ำแข็งบนภูเขาธารน้ำแข็ง แต่ขยายให้ครอบคลุมกรีนแลนด์ทั้งหมด โดยบางแห่งที่อยู่ไกลออกไปจากกรีนแลนด์จะมีระดับน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าบางแห่งที่อยู่ใกล้กับกรีนแลนด์ เช่น ชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ
ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น 27 ซม. นั้นจะเป็นการเพิ่มระดับน้ำทะเลจากกระแสน้ำปกติและพายุ Ellyn Enderlin ศาสตราจารย์ด้านธรณีศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Boise State University ซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษานี้กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล จะส่งผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างมากมายมหาศาล
Leigh Stearns แห่งมหาวิทยาลัย University of Kansas และ Sophie Nowicki จากมหาวิทาลัย University of Buffalo ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์น้ำแข็งทั้งคู่กล่าวว่า การศึกษาดังกล่าวไม่ได้สนับสนุนการคาดการณ์ของตนที่ว่าระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นภายในปี 2100
แต่ Colgan ผู้ร่วมเขียนรานงานการศึกษานี้ที่ถูกตีพิมพ์อยู่ในวารสารวิทยาศาสตร์ Natureกล่าวว่า ทีมวิจัยไม่ทราบว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหนกว่าที่น้ำแข็งจะละลาย ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นภายในปี 2100 หรืออย่างช้าที่สุดก็คือภายในปี 2150
Colgan ยังกล่าวอีกด้วยว่าระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นนั้น อาจจะมากกว่าที่การศึกษาได้คาดการณ์ไว้ โดยกล่าวว่า การละลายตัวของน้ำแข็งอาจทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นถึง 78 เซนติเมตรเลยทีเดียว ในปี 2012 ความแตกต่างระหว่างการเพิ่มและการลดของน้ำแข็งนั้นไม่สมดุลกันที่สุด และว่าหากสถานการณ์โลกเป็นเช่นนั้นมากขึ้น การละลายของน้ำแข็งอาจทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นถึง 78 เซนติเมตร
Colgan กล่าวส่งท้ายว่า เรื่องนี้คือผลพวงของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งค่าความผิดปกติในวันนี้ จะกลายเป็นค่าเฉลี่ยของวันพรุ่งนี้
ที่มา: เอพี via VOAThai