แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา จะมีความพยายามในการจำกัดคำเตือนเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้ให้เป็นเรื่องของกรอบเป้าหมายอุณหภูมิโลกเท่านั้น การศึกษาครั้งใหม่ชี้ว่า สิ่งที่โลกควรตระหนักถึงคือ จุดเปลี่ยนด้านสภาพภูมิอากาศ 4 ประการที่อาจจะปะทุขึ้นมาได้ในอนาคตพร้อม ๆ กับอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นต่อเนื่อง
ตามการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science ช่วงต้นเดือนกันยายน ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติได้พิจารณา 16 จุดเปลี่ยนของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว สภาวะโลกร้อนจะคงอยู่อย่างถาวรและไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้ และคำนวณหาเกณฑ์อุณหภูมิใหม่แบบคร่าว ๆ ที่จะกระตุ้นให้จุดเปลี่ยนเหล่านี้ทำงาน โดยพบว่า อุณหภูมิของโลกในปัจจุบันยังไม่น่าจะกระตุ้นให้จุดเปลี่ยนส่วนใหญ่เริ่มขยับตัวได้
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า หากอุณหภูมิโลกปรับสูงขึ้นเพียงไม่กี่องศาจากปัจจุบัน จะมี 4 จุดเปลี่ยนที่อาจเกิดขึ้นได้ทันที
ทั้งนี้ 4 จุดเปลี่ยนสำคัญที่จะเกิดขึ้น หากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นอีก 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบจากช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม หรืออีกไม่มากจากระดับค่าเฉลี่ยในปัจจุบัน คือ การยุบตัวอย่างช้า ๆ ของแผ่นน้ำแข็งทั้งในกรีนแลนด์และและในแอนตาร์กติกฝั่งตะวันตก การสูญเสียแนวปะการังเขตร้อนทั่วโลกจำนวนมากแบบฉับพลัน และการละลายของชั้นดินเยือกแข็ง (permafrost) ทางตอนเหนือ ซึ่งทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลที่เคยถูกกักไว้อยู่ใต้พื้นน้ำแข็งออกมา
ตัวเลขดังกล่าวถือว่าต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ว่า การดำเนินนโยบายและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในทุกวันนี้น่าจะทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นราว 2.7 องศาเซลเซียส หรือ 4.9 องศาฟาเรนไฮต์ เมื่อเทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรมแล้ว
ทิม เลนตัน นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Exeter ในประเทศอังกฤษ และเป็นผู้ร่วมเขียนรายงานการศึกษานี้ ให้ความเห็นว่า “มีโอกาสอย่างมาก ที่เราจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงจุดเปลี่ยนเหล่านี้ได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่เราต้องคิดต่อว่า จะปรับตัวให้รับมือผลลัพธ์ที่ตามมาอย่างไร”
เงื่อนเวลาของผลกระทบ
เวลา คือ ปัจจัยสำคัญของจุดเปลี่ยนทั้งหลาย โดยมีความเกี่ยวพันกับคำถาม 2 ข้อ ซึ่งก็คือ ปรากฏการณ์เหล่านี้ถูกกระตุ้นให้แสดงตนเมื่อใดและจะส่งผลกระทบอันเลวร้ายเมื่อใด ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์แผ่นน้ำแข็งถล่มอาจถูกกระตุ้นในเร็ว ๆ นี้ แต่นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า ผลกระทบที่จะตามมาซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจใช้เวลานานนับศตวรรษกว่าจะแสดงผล ในขณะที่ ผลกระทบของการสูญเสียแนวปะการังนั้นอาจปรากฎชัดในเวลาเพียง 1 – 2 ทศวรรษเท่านั้น
เดวิด อาร์มสตรอง แมคเคย์ นักวิทยาศาสตร์ระบบโลก จากมหาวิทยาลัย Exeter และเป็นหัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า“สิ่งนี้เป็นปัญหาสำหรับคนรุ่นต่อ ๆ ไป อย่างปรากฏการณ์แผ่นน้ำแข็งถล่มนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นต้องมองกันในระยะเวลาเป็นพันปี โลกใบนี้จะไม่เหมือนเดิมในยุคลูกหลานของเรา”
เลนตัน เปรียบเทียบคำว่าจุดเปลี่ยน เหมือนการนั่งเก้าอี้แล้วเอนไปข้างหลัง เมื่อเอนไปถึงจุดหนึ่งจะไม่สามารถควบคุมได้ เก้าอี้ที่นั่งอยู่จะหงายหลังตกลงไป โดยเขาชี้ว่า แนวคิดเรื่องจุดเปลี่ยนมีมานานกว่าทศวรรษแล้ว แต่การศึกษาล่าสุดพิจารณาเพิ่มเติมเกี่ยวกับช่วงเกณฑ์ของอุณหภูมิที่จะไปกระตุ้น รวมถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้คนและโลกใบนี้
เลนตัน กล่าวเสริมด้วยว่า ในช่วงราว 15 ปีที่ผ่านมา “ระดับความเสี่ยงในเรื่องนี้ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
โยฮัน ร็อคสตรอม ผู้อำนวยการสถาบัน Potsdam Institute for Climate Impact Research ในประเทศเยอรมนี และเป็นผู้ร่วมเขียนรายงานการศึกษานี้กล่าวว่า การสูญเสียแนวปะการังเป็นสิ่งที่น่ากังวลมากที่สุด เพราะจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในทันที
นอกจากประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว การปรับเพิ่มของอุณหภูมิอีกเพียงเล็กน้อยจะส่งผลให้จุดเปลี่ยนจำนวนมากมีโอกาสเกิดขึ้นได้ด้วย อย่างเช่น การชะลอตัวของการกระแสไหลเวียนในมหาสมุทรขั้วโลกเหนือ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่รุนแรง โดยเฉพาะในยุโรป การอัตรธานของทะเลน้ำแข็งในอาร์กติก การถล่มของธารน้ำแข็งทั่วโลก รวมไปถึงป่าฝนแอมะซอนที่อาจจะไม่สามารถคงสภาพเดิมได้
ซีค เฮาส์ฟาเธอร์ นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศ จากบริษัทเทคโนโลยี Stripe และ Berkeley Earth ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวิจัยนี้ ให้ทัศนะว่า เป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องศึกษาเรื่องจุดเปลี่ยนอย่างเหมาะสม พิจารณาจุดเปลี่ยนต่าง ๆ ด้วยมาตรวัดที่ดีกว่าในอดีต
ส่วน แคทเธอรีน มัค นักวิทยาศาสตร์ด้านความเสี่ยงภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยแห่งไมอามี (University of Miami) ซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษานี้ ตั้งคำถามว่า “เราได้เคยไตร่ตรองหรือไม่ว่า จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อมนุษย์ไปยุ่งกับระบบของโลกและระบบนิเวศมากมายดังว่า” และกล่าวทิ้งท้ายว่า ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่มีความหมายมากพอ ที่ทำให้คนเราต้องกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้แล้ว”
ที่มา: วีโอเอ