ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึง การ อำนวยความสะดวก นักท่องเที่ยวว่า เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ทุกฝ่ายเตรียมความพร้อมต้อนรับเพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว ต้องช่วยกันทำให้ชาวต่างชาติมีความประทับใจกับการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยเฉพาะช่วง high season ที่เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครต่างๆ ต้องทำงานหนักขอให้ดูแลให้ดี เพื่อจะได้สร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยว ได้เป็นอย่างดีและในขณะเดียวกันก็ขอให้ประชาสัมพันธ์ soft power ไปด้วย
“ต้องยอมรับว่าต่างชาติประทับใจการบริการของประเทศไทย ขอเน้นย้ำเรื่องการดูแลนักท่องเที่ยว เข้าใจดีว่าเจ้าหน้าที่ทำงานหนักอยู่แล้ว โดยเฉพาะในช่วงไฮซีซั่นมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจำนวนมาก จึงอยากให้ผู้บังคับบัญชาดูแลในเรื่องนี้ด้วย“ นายกรัฐมนตรี ย้ำ
นายกรัฐมนตรึกล่าวต่อไปว่า การบริการด้านต่างๆ เช่น การเช็คอิน อยากให้มีการเตรียมความพร้อมให้เกิดความสะดวกไม่ล่าช้าจนกระทบแผนการท่องเที่ยว และอยากให้มีการบูรณาการเรื่องของการใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความรวดเร็วให้กับนักท่องเที่ยว ขณะเดียวกันรัฐบาลพร้อมรับฟังเพื่อสนับสนุนและเข้ามาช่วยเหลือแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น
“นายกรัฐมนตรี ใช้ช่วงเวลาก่อนการเดินทางไปประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเซีย-แปซิฟิก (เอเปค) ครั้งที่ 31 ที่กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู ตรวจเยี่ยมสร้างขวัญและกำลังใจแก่หน่วยงานที่ให้บริการนักท่องเที่ยว และเยี่ยมชมการใช้งานระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (Biometric) ผู้โดยสารขาออก พร้อมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมสร้างความเชื่อมั่น และแผนรับนักท่องเที่ยวในช่วง High Season โดยเฉพาะ พื้นที่ภาคเหนือที่ต้องเร่งเข้าไปช่วยฟื้นฟูในมิติด้านเศรษฐกิจหลังเกิดสถานการณ์อุทกภัย“
นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมระบบการทำงาน และแผนการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการท่องเที่ยว พร้อมย้ำขอให้ดูแลนักท่องเที่ยวอย่างดี โดยเฉพาะในด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ทั้งเรื่องกฎระเบียบและกฎหมายต่างๆ พร้อมขอเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ และขอให้ทุกหน่วยงานบูรณาการทำงานเพื่อประชาสัมพันธ์และสื่อสารการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพตรงตามความต้องการในการให้บริการผู้โดยสารเพื่อให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวและการบินของภูมิภาค
ทั้งนี้ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยรายงานว่า ในปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566-พฤศจิกายน 2567) มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 19.2% โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ รัสเซีย และญี่ปุ่น และตารางบินฤดูหนาวคาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารสูงสุดที่ประมาณ 7,000 คน/ชม. โดยมีความจุของอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ขาเข้า ประมาณ 7,140 คน/ชั่วโมง ขาออก 5,500 คน/ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังได้นำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ ซึ่งรวมถึง
-ระบบเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (Common Use Self Service- CUSS) 196 จุด และระบบรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ Common Use Bag Drop- CUBD) 50 จุด ที่เริ่มใช้งานตุลาคม 2563 ลดเวลาคอยคิวและกระบวนการเช็กอิน จากเดิมgเฉลี่ย 20 นาที เหลือน้อยกว่า 1 นาที
-ระบบตรวจสอบยืนยันตัวตนผู้โดยสาร
-ระบบประตูทางออกขึ้นเครื่องอัตโนมัติ
-ระบบตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ (ขาออก 70 ชุด ขาเข้า 52 ชุด รวม 122 ชุด) ลดเวลาคอยคิวและกระบวนการตรวจหนังสือเดินทาง ลงจากเดิมgเฉลี่ย 15 นาที เหลือน้อยกว่า 2 นาที และ
-ล่าสุด ระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (Automated Biometric Identification System : Biometric) ด้วยเทคโนโลยี Facial Recognition เริ่มใช้งานตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2567 ช่วยลดเวลา ณ จุด Touch point ต่างๆที่ต้องยืนยันตัวตน เช่น เช็คอิน โหลดกระเป๋า PVS จากเดิมเฉลี่ย 3 นาที เหลือ 1 นาที
สำหรับอาคาร Midfield Sattelite ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 6 ท่าอากาศยานที่งดงามที่สุดในโลก (The World’s Most Beautiful Airports) โดยได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัล Prix Versailles จาก UNESCO อีกด้วย
ที่มา: ข่าวกระทรวง – ด้านเศรษฐกิจ