นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีสอบถามในที่ประชุมถึงการส่งข้อความแจ้งเตือนภัยในวันเกิดเหตุแผ่นดินไหว (28 มีนาคม 2568) ซึ่งพบข้อจำกัดใน 2 ประเด็น คือ 1. มีการดำเนินการช้าในช่วงสรุปข้อความ และ 2. มีความล่าช้า ในขั้นตอนการส่งข้อความ
โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สรุปผลการหารือที่ประชุม 3 ฝ่าย ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ว่า ปภ. จะดำเนินการทำระบบปฏิบัติการใหม่ในเรื่องการเตือนภัย ซึ่งเป็นหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และให้กำหนดไทม์ไลน์ว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์แล้วจะใช้เวลาอย่างไร กี่นาที เพื่อที่จะได้เกิดความรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ ขณะที่ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม NT TRUE AIS ให้ความมั่นใจในการหาแนวทางสื่อสาร ใช้เป็นระบบสำรอง ก่อนที่จะมีการใช้ระบบ Cell Broadcast
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า เมื่อเกิดเหตุ ควรจะแจ้งเตือนภายในเวลา 5 นาที ซึ่งตนเองเห็นใจและเข้าใจว่าข้อมูลต้องชัดเจน แต่เหตุแผ่นดินไหวเกิดแล้ว ข้อความส่งได้เลย ซึ่งการส่ง SMS เป็นหนึ่งในเครื่องมือเชิงรุกในตอนนี้ เพื่อการแจ้งเตือนว่ามีแผ่นดินไหว เมื่อเช้าตนเองได้ให้สัมภาษณ์ และโพสต์ในโซเชียลมีเดีย สื่อสารว่า เมื่อเช้าไม่ใช่แผ่นดินไหว ต้องช่วยสื่อสารทุกรูปแบบ เพื่อแจ้งยืนยันถึงสถานการณ์ ไม่ให้ประชาชนสับสนเกิดความตื่นตระหนก
นายกรัฐมนตรี กำชับถึงความชัดเจนของหน่วยงานหลัก หรือเจ้าภาพงาน จะกำหนดขั้นตอน (flow) ในการแจ้งเตือนประชาชนในอนาคตให้ชัดเจนและเป็นมาตรฐาน ซึ่งระบบเตือนภัยต้องครอบคลุมและสามารถจำแนกประเภทของภัยได้อย่างชัดเจน ตามข้อแนะนำของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่แบ่งภัยออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) ภัยธรรมชาติ มีหลายระดับของการเตือนภัย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์ 2) ภัยไซเบอร์ การโจมตีที่ส่งผลกระทบต่อระบบสำคัญ เช่น โรงพยาบาล สายการบิน และระบบสื่อสาร จำเป็นต้องมีการเตรียมการรับมือที่มีประสิทธิภาพ และ 3) ภัยที่เกิดจากมนุษย์ เช่น ไฟไหม้ หรือเหตุการณ์ก่อการร้าย เป็นต้น
ในที่ประชุม นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แบ่งหน้าที่ และขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้
1. ให้กระทรวงมหาดไทยจัดทำแผนและมาตรการป้องกันภัยพิบัติต่าง ๆ ระบบ work flow ให้ชัดเจน เพื่อให้ทุกหน่วยงานเข้าใจตรงกัน โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา คือ ก่อน และหลังระบบ Cell Broadcast
2. ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) หามาตรการในการประสานงานกับกรมอุตุนิยมวิทยา กสทช. เรื่องการส่งข้อความเตือนภัยให้ชัดเจน
3. ให้กรมโยธาธิการและผังเมือง เร่งออกมาตรการข้อกำหนดต่าง ๆ ในการตรวจสอบอาคารสูง เพื่อให้ได้มาตรฐาน
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการระบบ Cell Broadcast ให้แล้วเสร็จเป็นรูปธรรม พร้อมเปิดรับข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนเกี่ยวกับการพัฒนาระบบส่งข้อความหรือแนวทางอื่น ๆ เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
ที่มา: ข่าวกระทรวง – ด้านเศรษฐกิจ