สำนักข่าวรายเตอร์ออกรายงานวันพฤหัสบดีที่กล่าวถึงการฟื้นตัวของสายการบินหลายสายในภูมิภาคเอเชีย โดยบทความชิ้้นนี้ระบุว่า ปัจจัยบวกเช่น ตลาดภายในประเทศที่ใหญ่ของบางประเทศ และอัตราค่าบริการส่งสินค้าที่สูงขึ้นช่วยให้สายการบินหลายแห่งมีผลประกอบการที่ดีขึ้น
ในกลุ่มดังกล่าว รอยเตอร์ระบุถึงสายการบินเเควนตัสของออสเตรเลีย และสิงคโปร์แอร์ไลนส์
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการบางรายเช่น การบินไทย การูดาและแอร์เอเชีย อาจจะต้องเจอความยากลำบากต่อไป โดยมีเหตุผลมาจากสภาพการเงินที่ยังไม่เเข็งเเกร่งพอและปัญหาจากเครื่องบินและการซ่อมบำรุงที่ขาดเเคลน
ในวันพฤหัสบดี แควนตัสคาดการณ์ว่าช่วงครึ่งปีเเรกของปีงบประมาณที่จะจบลง 31 ธันวาคม บริษัทน่าจะมีกำไร 1,300 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียหรือประมาณ 816 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ตัวเลขดังกล่าวดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ถึงสองเท่า จากการที่ลูกค้ายอมจ่ายค่าตั๋วที่เเพงขึ้นเเม้ว่าจะเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ
ซีอีโอของเเควนตัส อลัน จอยส์ กล่าวว่า “ยังคงมีความต้องการอย่างมหาศาล” ของคนที่รอการเดินทางมานาน
ขณะนี้ สายการบินที่มีเที่ยวบินต่างประเทศระยะไกล เช่น ผู้ให้บริการของสหรัฐฯและตะวันออกกลาง ยังคงไม่รีบนำเที่ยวบินเหล่านี้กลับมาเสนอลูกค้า และเงินดอลลาร์ที่เเข็งขึ้นทำให้ผู้ประกอบการ เหล่านี้ได้รับผลกระทบ
แต่ทิศทางดังกล่าว เป็นปัจจัยเอื้อสายการบินระดับภูมิภาคอย่าง แอร์ นิวซีเเลนด์ ซึ่งมีกำไรแล้วในครึ่งปีนี้
รอยเตอร์รายงานด้วยว่า สิงคโปร์แอร์ไลนส์ ได้ประโยชน์จากการเปิดให้เดินทางเข้าออกได้อย่างสมบูรณ์ตั้งเเต่เดือนเมษายน และยังได้เปรียบในฐานะเป็นศูนย์การบินของภูมิภาค ส่วนปัจจัยเสริมอีกประการหนึ่งมาจากการสนับสนุนทางการเงินที่เเข็งเเกร่งจากกองทุนเทมาเส็คของรัฐบาลสิงคโปร์
นักวิเคราะห์อิสระ เบรนเเดน โซบี ที่อยู่สิงคโปร์ กล่าวว่า สายการบินที่สามารถเพิ่มศักยภาพมารองรับผู้โดยสารที่มากขึ้นอย่างทันเวลาในตอนนี้ช่วยทำให้ผลประกอบการกลับมามีกำไรได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า โดยรวม ความสามารถในการทำกำไรของสายการบินต่าง ๆ อาจเจอความเสี่ยงในปีหน้า เพราะมีความเป็นไปได้ว่าความต้องการเดินทางของผู้โดยสารจะลดลง
รายงานชิ้นนี้กล่าวว่าถึงสายการบินไทย ว่า อยู่ในสถานการณ์คล้ายกับ การูดา อินโดนีเซีย คือ ได้ลดขนาดฝูงบิน ขณะที่บริษัทปรับโครงสร้างหนี้ ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะได้ประโยชน์เต็ม ๆ จากการฟื้นตัวของความต้องการเดินทาง ณ เวลานี้
ในส่วนของไต้หวัน ซึ่งมีสายการบินไชน่าแอร์ไลนส์ และเกาหลีใต้ ซึ่งมี โคเรียน แอร์ ไลน์ ทั้งสองแห่งมีกำไร เเละได้ประโยชน์จากอัตราค่าขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น ที่เเม้อาจแผ่วลงบ้างจากนี้ แต่สายการบินทั้งสองได้แรงหนุนจากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น
สายการบินญี่ปุ่นเช่น เจแปนแอร์ไลนส์ และเอเอ็นเอ น่าจะได้ประโยชน์จากนักท่องเที่ยวที่สนใจเที่ยวญี่ปุ่นเพราะเงินเยนอ่อนค่า ตามรายงานของรอยเตอร์
สำหรับผู้ประกอบการในจีนแผ่นดินใหญ่ รอยเตอร์ระบุว่า กิจการของบริษัทเหล่านี้ยังคงถูกกดดันจากมาตรการควบคุมโควิด-19 อย่างเข้มข้นของรัฐบาลปักกิ่ง ขณะที่แอร์ เอเชียของมาเลเซีย มีสถานะการเงินที่ไม่เเข็งเเกร่งนัก และประสบปัญหาการเพิ่มเที่ยวบิน เพราะไม่สามารถจัดตารางซ่อมบำรุงได้อย่างเพียงพอ
ที่มา: รอยเตอร์ via VOAThai