เอกนัฏ สั่ง สมอ. จับมือ สภาอุตฯ รับมือ EUDR การันตีสินค้าปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า
“เอกนัฏ” เร่ง สมอ. ปรับมาตรฐาน และเตรียมระบบการตรวจสอบรับรองการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน มตช.14061 ให้สอดคล้องกับกฎหมาย EUDR ของสหภาพยุโรป ที่จะมีผลในทางปฏิบัติวันที่ 30 ธันวาคม 2568 เดินหน้าผลักดันให้ EU ยอมรับสินค้าไทยที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานแล้ว
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้า ภายหลังจากที่ได้มีการหารือร่วมกับคณะผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถึงแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการไทย จากกรณีที่สหภาพยุโรป (EU) ได้ออกกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า หรือ EUDR (EU Deforestation Regulation) ควบคุมผู้ส่งออก 7 กลุ่มสินค้า ได้แก่ โกโก้ กาแฟ ถั่วเหลือง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน โค และไม้ รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ถูกผลิตขึ้นมาจากสินค้าพื้นฐานเหล่านี้ อาทิ ช็อคโกแลต เฟอร์นิเจอร์ไม้ ยางรถยนต์ เป็นต้น ซึ่งในการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในตลาดสหภาพยุโรป ต้องผ่านเงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1) สินค้าต้องไม่มาจากการบุกรุกพื้นที่ป่า 2) สินค้าต้องมีกระบวนการผลิตที่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศผู้ผลิต และ 3) ต้องมีการตรวจสอบสถานะและประเมินสินค้า ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะมีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2568 เป็นต้นไป
“ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้า ต้องจัดเตรียมข้อมูลตามเงื่อนไขของกฎหมาย EUDR ให้พร้อม เนื่องจากผู้ประกอบการและผู้ค้าใน EU จะซื้อสินค้าจากผู้ผลิตที่สามารถให้ข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งข้อมูลสำคัญที่จะต้องเตรียม คือ รายละเอียดสินค้า ประเทศผู้ผลิต พิกัดภูมิศาสตร์ของที่ดินที่ใช้เพาะปลูก ข้อมูลที่ยืนยันว่าสินค้าไม่ได้มาจากการบุกรุกพื้นที่ป่า และถูกต้องตามกฎหมายของประเทศผู้ผลิต โดยได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ทบทวนมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับมาตรการ EUDR เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการนำไปใช้ ทั้งนี้ จะเร่งดำเนินการผลักดันให้ EU ยอมรับสินค้าไทยที่มาจากแหล่งผลิตที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐาน เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นแก่ประเทศคู่ค้าว่า สินค้าไทยเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมาย EUDR ด้วย”
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของ สมอ. ได้เตรียมการรองรับกับมาตรการดังกล่าว โดยใช้กลไกในการตรวจสอบรับรองตามมาตรฐานระบบการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน มตช.14061-2566 ที่ สมอ. ให้การรับรองแก่ผู้ประกอบการที่ดำเนินการตามมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งมีข้อกำหนดที่สำคัญ คือ การปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การวางแผนการจัดการที่ดีภายในสวนป่า การปกป้องสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน ความปลอดภัย และการใช้แรงงานที่ถูกกฎหมาย เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นว่า ผลผลิตที่มาจากสวนป่าที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐาน มตช.14061-2566 นั้น เป็นสินค้าที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่บุกรุกพื้นที่ป่า และถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยคาดว่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สหภาพยุโรปในการนำเข้าสินค้าที่มาจากผู้ประกอบการในประเทศไทย ซึ่ง สมอ. จะดำเนินการเจรจากับ EU ให้ยอมรับผลการตรวจสอบรับรองภายใต้การรับรองระบบงาน (accreditation) ของ สมอ. ต่อไป
ปัจจุบันประเทศไทยมีหน่วยงานที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานระบบการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืนแล้ว จำนวน 6 หน่วยงาน ได้แก่ 1) บริษัท แพลนเตชั่นส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 2) สหกรณ์กองทุนสวนยาง คลองปาม จังหวัดตรัง 3) บริษัท ฟิวเจอร์ รีซอร์ส เทคโนโลยี จำกัด 4) การยางแห่งประเทศไทย สาขาเมืองสตูล 5) บริษัท เซาท์แลนด์รับเบอร์ จำกัด 6) สหกรณ์กองทุนน้ำยางสดท่าแพ สตูล เลขาธิการ สมอ. กล่าว
แหล่งข่าว: ด้านเศรษฐกิจ