ญี่ปุ่นหลุดเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว ทำให้แดนอาทิตย์อุทัยเสียตำแหน่งประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลกให้แก่เยอรมนี และสร้างความไม่แน่นอนถึงกรอบเวลาที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะเริ่มต้นก้าวออกจากนโยบายผ่อนคลายการเงินที่ดำเนินมาร่วมทศวรรษนี้ได้เมื่อใด
ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี ชี้ว่า ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว หดตัว 0.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจีดีพีญี่ปุ่นจะขยายตัวได้ 1.4% ในไตรมาสดังกล่าว ต่อเนื่องจากที่จีดีพีญี่ปุ่นหดตัว 3.3% ในไตรมาส 3 ของปีก่อน ผลักให้ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิคไปอย่างไม่คาดคิด
นักวิเคราะห์ได้ออกโรงเตือนว่าเศรษฐกิจหดตัวรอบใหม่จะเกิดขึ้นกับญี่ปุ่นในไตรมาสล่าสุดนี้ เนื่องจากอุปสงค์ที่อ่อนแอของจีน การบริโภคและการผลิตที่ชะงักงันของบริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นโตโยตา มอเตอร์ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยท้าทายการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นทั้งสิ้น
โยชิกิ ชินเกะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก Dai-ichi Life Research Institute ให้ทัศนะกับรอยเตอร์ว่า การบริโภคและการลงทุนเป็นเสาหลักของอุปสงค์ในประเทศ และว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะยังคงขาดโมเมนตัมในช่วงเวลาที่ไร้ปัจจัยสำคัญขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป
ระหว่างที่นักวิเคราะห์หลายรายยังคาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะค่อย ๆ ลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในปีนี้ โดยตั้งเป้าจะยุติระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบติดลบรวมถึงนโยบายผ่อนคลายการเงินแบบสุดโต่งของญี่ปุ่นที่ดำเนินมาร่วมทศวรรษในเดือนเมษายนนี้ แต่ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาต่างสร้างความกังวลว่าการปรับขึ้นค่าจ้างในญี่ปุ่นอาจกระทบกับการบริโภคและการควบคุมเงินเฟ้อให้กรอบเป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่นได้
สตีเฟน แองกริค นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก Moody’s Analytics บอกกับรอยเตอร์ว่า จีดีพีที่หดตัวลงต่อเนื่อง 2 ไตรมาส และอุปสงค์ในประเทศที่หดตัวต่อเนื่อง 3 ไตรมาสล้วนเป็นข่าวร้ายทั้งสิ้น และว่าทำให้ยากสำหรับธนาคารกลางญี่ปุ่นในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หรือชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย
- ที่มา: รอยเตอร์
(ที่มา: VOA)