ทำเนียบขาวกำลังเล็งที่จะดำเนินการตามคำเรียกร้องของสมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรคเดโมแครตให้ปิดช่องโหว่ทางกฎหมายที่เปิดทางให้ผู้ผลิตต่างชาติที่ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีนหลบหลีกกำแพงภาษีสำหรับสินค้าราคาถูกและส่งผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายและไม่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคเข้ามาในตลาดสหรัฐฯ
รายงานข่าวระบุว่า รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังพิจารณาที่จะจัดการกับข้อยกเว้นทางภาษี De minimis หรือมูลค่าขั้นต่ำในการนำเข้าที่ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ที่เปิดทางให้พัสดุที่มีการระบุมูลค่าไม่ถึง 800 ดอลลาร์เข้าประเทศโดยไม่ต้องชำระอากรภาษี
สำนักงานศุลกากรและการป้องกันชายแดนของสหรัฐฯ (CBP) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2023 มีพัสดุประเภทดังกล่าวมากถึงกว่า 1,000 ล้านชิ้นที่ถูกส่งเข้ามาในสหรัฐฯ
เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวกล่าวว่า ตัวเลขที่พุ่งสูงกว่า 5 เท่าเมื่อเทียบกับสถิติเมื่อหลายปีก่อนนี้เป็นผลมาจากการขยายตัวของแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์สต่าง ๆ เช่น Shein และ Temu
ดาลีป ซิงห์ รองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า การเดินหน้าปิดช่องโหว่เหล่านี้จะมีผลอย่างมากต่อสินค้าประเภทเสื้อผ้าของจีน และ “จะลดการขนส่งเข้าประเทศผ่านระบบข้อยกเว้น De minimis ได้อย่างมากด้วย”
แต่นั่นก็จะหมายความว่า การที่ผู้บริโภคในสหรัฐฯ จะหาซื้อเสื้อยืดพิมพ์ลายต่าง ๆ และหลากสีในราคา 6 ดอลลาร์-8 ดอลลาร์ ได้ยากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ซิงห์ กล่าวเสริมว่า รัฐบาลไบเดนยังจะพยายามยกระดับกฎเกณฑ์การขอข้อมูลและมาตรฐานความปลอดภัยผู้บริโภค รวมทั้งปิดกั้นไม่ให้สินค้าที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขใหม่ ๆ นี้ เข้าประเทศ ขณะที่ ทำเนียบขาวจะขอให้สภาคองเกรสผ่านกฎหมาย “ปฏิรูปข้อยกเว้น De minimis อย่างเต็มรูปแบบ” ในปีนี้ด้วย
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคเดโมแครตจำนวน 126 คนลงนามในจดหมายที่ส่งให้กับปธน.ไบเดน เพื่อขอให้ใช้อำนาจฝ่ายบริหารดำเนินการดังกล่าว โดยระบุว่า พวกตนไม่สามารถทำการใด ๆ ได้ “ขณะที่เกิดภาวะหยุดชะงักอย่างไม่รู้จบในคองเกรสที่ขัดขวางกระบวนการนิติบัญญัติไม่ให้ผ่าน(กฎหมาย)ออกมาใช้งาน”
ขณะเดียวกัน คิม กลาส ประธานและซีอีโอของ National Council of Textile Organizations กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง “สนับสนุนการปิดช่องโหว่ข้อยกเว้น De minimis อย่างมาก” โดยอ้างถึงการที่โรงงานผลิตเสื้อผ้า 18 แห่งในสหรัฐฯ ต้องปิดตัวไปในปีที่ผ่านมา
กลาส ระบุในแถลงการณ์ว่า ระบบข้อยกเว้นดังกล่าว “คือข้อตกลงการค้าเสรีสำหรับโลกทั้งโลก ที่มีผู้ผลิต ผู้ค้าปลีก และผู้บริโภคในสหรัฐฯ เป็นผู้เสียประโยชน์”
- ที่มา: วีโอเอ
(ที่มา: VOA)