วันที่ 10 ของเดือนตุลาคมของทุกปี คือ วันสุขภาพจิตโลก มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 ตามคำประกาศขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งปีนี้ได้ทำการรณรงค์ “เร่งส่งเสริมความตระหนักและการลงมือทำ” ในภูมิภาคต่าง ๆ ที่มีอัตราการเสียชีวิตจากการทำอัตวินิบาติกรรมในระดับสูง
องค์การอนามัยโลก ระบุในแถลงการณ์ที่ออกมาในวันจันทร์ว่า ภาวะระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้ทำให้เกิด “วิกฤตระดับโลกของสุขภาพจิต” พร้อมระบุว่า ประเด็นนี้ “ยิ่งเติมเชื้อเพลิงให้แก่ความตึงเครียดระยะสั้นและระยะยาว และบ่อนทำลายสุขภาพจิตของคนนับล้านด้วย”
WHO ยังกล่าวด้วยว่า “มีการประเมินว่า ระดับของการพบโรคซึมเศร้าและโรคตื่นตระหนกเพิ่มขึ้นกว่า 25% ในช่วงปีแรกที่มีการระบาดใหญ่” และว่า “ขณะเดียวกัน บริการด้านสาธารณสุขเพื่อรักษาสุขภาพจิตก็เกิดการชะงักงันอย่างรุนแรง และช่องว่างการรักษาอาการป่วยทางสุขภาพจิตที่กว้างขึ้นกว่าเดิมด้วย”
ประเด็นเกี่ยวกับการรักษาอาการของโรคสุขภาพจิตนั้นอยู่ในระดับรุนแรงเป็นพิเศษในทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีจิตแพทย์ 1 คนต่อประชาชนทุก 500,000 คน ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าที่ WHO แนะนำถึง 100 เท่า
ในประเด็นนี้ องค์การอนามัยโลกได้ทำการรณรงค์การป้องกันการฆ่าตัวตายในแอฟริกาเพื่อแก้ไขปัญหานี้แล้ว โดยข้อมูลจาก WHO ระบุว่า มีคนฆ่าตัวตาย 11 คนต่อประชากรทุก 100,000 คนในแอฟริกา ขณะที่ อัตราส่วนในระดับโลกนั้นอยู่ที่ 9 คนต่อประชากรทุก 100,000 คน
- ที่มา: วีโอเอ