°
, October 10, 2024 in
Breaking News
ถ้อยแถลงข่าวร่วมในโอกาสการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของสมเด็จพระราชาธิบดีฮาจี ฮัซซานัล บลเกียะฮ์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละฮ์ แห่งบรูไนดารุสซาลาม – News24
ข่าวระดับโลก
0

ถ้อยแถลงข่าวร่วมในโอกาสการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของสมเด็จพระราชาธิบดีฮาจี ฮัซซานัล บลเกียะฮ์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละฮ์ แห่งบรูไนดารุสซาลาม – News24

ถ้อยแถลงข่าวร่วม

ในโอกาสการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ

สมเด็จพระราชาธิบดีฮาจี ฮัซซานัล บลเกียะฮ์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละฮ์

แห่งบรูไนดารุสซาลาม

วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๗

 

*******************************

 

๑. สมเด็จพระราชาธิบดีฮาจี ฮัซซานัล บลเกียะฮ์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละฮ์ แห่งบรูไนดารุสซาลาม ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลระหว่างวันที่ ๒๘ – ๒๙ เมษายน ๒๕๖๗ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลามได้เสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งล่าสุดเมื่อปี ๒๕๕๕

 

๒. สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลามทรงขอบคุณนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่นและในไมตรีจิตในระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินเยือนอย่างเป็นทางการ

 

๓. ในระหว่างการเยือน ผู้นำทั้งสองได้หารือกันที่ทำเนียบรัฐบาลในหลายประเด็นอย่างกว้างขวาง ทั้งสองฝ่ายแสดงความพึงพอใจต่อความสัมพันธ์ที่ดีอันยาวนานระหว่างไทยกับบรูไนดารุสซาลาม โดยได้ยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีในด้านต่าง ๆ และได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาคที่มีความสนใจร่วมกัน โดยมีประเด็นสำคัญจากการหารือดังนี้ :

 

๔. ความร่วมมือทางการเมือง : ประเทศไทยและบรูไนดารุสซาลามมีความสัมพันธ์กันอย่างยาวนาน โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความร่วมมือที่แนบแน่นและอบอุ่นตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๗ และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ ๔๐ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศ นายกรัฐมนตรีได้เยือนบรูไนดารุสซาลามอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๑๐ – ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๖ และสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลามได้เสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๒๘ – ๒๙ เมษายน ๒๕๖๗ โดยผู้นำทั้งสองได้ยืนยันความมุ่งมั่นในการกระชับความร่วมมือในด้านการค้า การลงทุน อุตสาหกรรมฮาลาล การท่องเที่ยว เศรษฐกิจดิจิทัล และความสัมพันธ์ในระดับประชาชนผ่านกลไกทวิภาคีที่มีอยู่ ซึ่งรวมถึงคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี ที่บรูไนดารุสซาลามจะเป็นเจ้าภาพการประชุมฯ ครั้งที่ ๒ ในปี ๒๕๖๗

 

๕. ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ : ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดต่อไปเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในประเด็นต่อไปนี้ :

๕.๑ การค้า : ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีด้านการค้าให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยจัดตั้งกลไกในระดับนโยบาย เพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมในการส่งเสริมการค้าทวิภาคีและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายหารือในประเด็นนี้ต่อไป

๕.๒ ความมั่นคงด้านอาหารและความร่วมมือฮาลาล : ฝ่ายไทยแสดงความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานร่วมด้านการเกษตร ครั้งที่ ๑ ในวันที่ ๗ – ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๗  โดยผู้นำทั้งสองได้ย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือในอุตสาหกรรมฮาลาล ผ่านความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมของประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของบรูไนดารุสซาลาม อาทิ กระทรวงการคลังและเศรษฐกิจ กระทรวงทรัพยากรพื้นฐานและการท่องเที่ยว และกระทรวงศาสนา นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้เห็นชอบที่จะหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจด้านอุตสาหกรรมฮาลาล การพัฒนาและการส่งเสริมการส่งออกสินค้าฮาลาลด้วย

๕.๓ การท่องเที่ยว : ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว รวมถึงแนวคิด Six Countries, One Destination ที่เป็นโครงการนำร่องที่ประเทศไทยเสนอเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในระดับภูมิภาค และยังเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อมุสลิม นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มจำนวนเที่ยวบินตรงระหว่างสองประเทศ และขยายเส้นทางการบินจากบรูไนดารุสซาลามมายังประเทศไทย

๕.๔ การลงทุน : ผู้นำทั้งสองยินดีที่คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจบรูไนดารุสซาลามมีความสนใจในการดึงดูดและอำนวยความสะดวกให้การลงทุนจากประเทศไทยในด้านอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมปิโตรเลียมปลายน้ำและปิโตรเคมี อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่บรูไนดารุสซาลาม นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองมุ่งหวังให้ทั้งสองประเทศสามารถบรรลุความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งบรูไนดารุสซาลามเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนด้วย

๕.๕ เศรษฐกิจดิจิทัล : สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลามทรงยินดีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถและการแบ่งปันประสบการณ์แก่ธนาคารกลางบรูไนดารุสซาลามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาระบบการชำระเงินที่รวดเร็ว (Fast Payment System: FPS) เพื่ออำนวยความสะดวกในการโอนเงินและชำระเงินอย่างมีประสิทธิภาพด้วยค่าธรรมเนียมที่ถูกลง ส่วนนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยได้ชื่นชมที่บรูไนดารุสซาลามร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเชื่อมโยงการชำระเงินในภูมิภาค ซึ่งจะเสริมสร้างความร่วมมือทางการเงินระหว่างบรูไนดารุสซาลามกับประเทศไทยตลอดจนกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค

 

๖. ความสัมพันธ์ระดับประชาชน นายกรัฐมนตรีขอบคุณที่รัฐบาลบรูไนดารุสซาลามมอบทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาไทย รวมถึงนักศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของบรูไนดารุสซาลามในหลายด้าน รวมถึงด้านศาสนาอิสลาม ผู้นำทั้งสองยังเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะในสาขาการแพทย์และการพยาบาล นอกจากนี้ เพื่อกระชับความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชน ผู้นำทั้งสองยังได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเจรจาบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในบรูไนดารุสซาลาม บันทึกความเข้าใจระหว่างกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และรัฐบาลบรูไนดารุสซาลามในด้านการพัฒนาโครงการหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OVOP) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรม และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างกระทรวงศึกษาธิการของประเทศไทยและบรูไนดารุสซาลาม

 

๗. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : ผู้นำทั้งสองแสดงความยินดีที่ประเทศอาเซียนได้ตกลงกันที่จะจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่บรูไนดารุสซาลาม และนายกรัฐมนตรีได้ให้ความมั่นใจว่า ประเทศไทยจะเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถลงนามความตกลงเพื่อการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวได้โดยเร็ว ผู้นำทั้งสองยังมุ่งหวังที่จะเห็นความสำเร็จของการจัดตั้งศูนย์ฯ รวมทั้งบทบาทของศูนย์ฯ ในการประสานงานอย่างใกล้ชิดในภูมิภาคและการกระชับความร่วมมือในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน

 

๘. ความร่วมมือระดับภูมิภาค : ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการที่สำคัญในภูมิภาค และยืนยันความมุ่งมั่นที่จะรักษาความเป็นแกนกลางและความเป็นเอกภาพของอาเซียนในการส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาในภูมิภาค ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของบริบทระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ในประเด็นเมียนมา ผู้นำทั้งสองมีเป้าหมายเดียวกันคือ ความสงบสุข ความมีเสถียรภาพ และความเป็นเอกภาพของเมียนมา และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในเมียนมาแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างกันด้วยหารือกันอย่างสร้างสรรค์เพื่อบรรลุทางออกอย่างสันติ โดยผ่านกระบวนการที่เมียนมามีบทบาทนำและมีความเป็นเจ้าของ นอกจากนี้ ฝ่ายบรูไนดารุสซาลามได้แสดงความยินดีต่อข้อริเริ่มของไทยในการยกระดับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมาซึ่งได้ช่วยเสริมการดำเนินการตามฉันทามติ ๕ ข้อ ของอาเซียน

 

๙. ในระหว่างการเยือน ผู้นำทั้งสองได้ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามของ :

(๑) บันทึกความเข้าใจระหว่างกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการของไทยและสำนักงานการลงทุนบรูไนฯ

(๒) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงทรัพยากรพื้นฐานและการท่องเที่ยวแห่งบรูไนดารุสซาลาม

 

๑๐. ผู้นำทั้งสองประเทศแสดงความพอใจต่อผลลัพธ์ของการเยือนและเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายใช้กลไกทวิภาคีที่มีอยู่อย่างเต็มที่เพื่อให้มีการดำเนินการเป็นรูปธรรม ผู้นำทั้งสองยังสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างภาครัฐและเอกชนของทั้งสองประเทศในทุกระดับให้มากขึ้น เพื่อรักษาพลวัตที่ดีของความสัมพันธ์ทวิภาคีต่อไป

 

********************



แหล่งข่าว:
กระทรวงการต่างประเทศ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *