°
, October 6, 2024 in
Breaking News
Credit: Pinitkarn Tulachom, VOA
ข่าวธุรกิจ
0

คนไทยในอเมริกาตอบรับแง่บวก หลังพบนายกฯ เผย นโยบายเศรษฐกิจ

ชาวไทยในสหรัฐฯมีความสุขมากที่ได้พบกับนายกรัฐมนตรีที่เดินทางมาเยือนนิวยอร์กในสัปดาห์ที่ผ่านมา พวกเขาหวังว่านโยบายที่ผู้นำไทยกล่าวว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นศรษฐกิจหรือลดความขัดแย้งในสังคม จะสามารถดำเนินการได้จริงและประสบความสำเร็จในอนาคต

นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ยืนยันถึงนโยบายการบริหารงานและแผนการแก้ปัญหาของรัฐบาลกับชุมชนชาวไทยในสหรัฐฯ ในการเข้าร่วมกิจกรรมพบปะชุมชนไทยพบนายกรัฐมนตรีที่นิวยอร์ก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเพื่อเข้าร่วมประชุมสหประชาชาติ หรือ UNGA ครั้งที่ 78

“ผมยืนยันนะครับว่ารัฐบาลนี้มาจากประชาชนและก็จะทำงานเพื่อประชาชนอย่างสุดความสามารถวันนี้มายืนตรงนี้อย่างที่ผมบอกไม่ถึง 2 อาทิตย์เนี่ยเราก็พยายามอย่างเต็มที่ที่จะแก้ไขปัญหาที่พี่น้องทุกคนเผชิญอยู่นะครับ..” นายกรัฐมนตรี กล่าวกับชาวชุมชนไทยในสหรัฐฯที่เข้าร่วมรับฟังนโยบายที่โรงแรม เซนต์รีจิส ใจกลางเกาะแมนฮัตตัน ในนครนิวยอร์ก

ย้ำแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เรื่องเร่งด่วน !

นายเศรษฐา ย้ำถึงปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ในอันดับต้นๆ ที่ต้องได้รับการแก้ไข

“..ปัญหาแรกๆก็คือปัญหาด้านเศรษฐกิจซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่า GDP ของเราเนี่ยต่ำกว่าเพื่อนบ้านอย่างมากในช่วงเวลาเดียวกันที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นประเทศคู่แข่งอย่าง เวียดนาม อินโดนีเซียฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไม่ต่ำกว่าแค่จุด 2 จุดต่ำกว่าเป็นเท่าเลยก็ว่าได้นะครับ ตรงนี้ที่เป็นจุดเรื่องซึ่งเป็นที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการส่งออกก็ตกลงไปนะครับ ปัญหาเศรษฐกิจผมว่าเป็นเป็นที่ประจักษ์..” นายเศรษฐา กล่าว

ย้ำเร่งหาทางออก ความแตกแยกในสังคม

เช่นเดียวกับปัญหาความแตกแยกในสังคม ที่นายกรัฐมนตรีย้ำว่า น่าเป็นห่วงมายาวนาน และจำเป็นต้องมีทางออกโดยเร็ว

“ แต่ปัญหาอีกอันนึงซึ่งจริงๆแล้วเนี่ยเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากกว่าคือปัญหาของงานแตกแยกของสังคมไทยอันนี้ผมเชื่อว่าเป็นปัญหาที่หลายๆท่านในที่นี้ก็คงเป็นห่วงอยู่นะครับ รัฐบาลนี้นอกจากการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจแล้วเรื่องของการเยียวยาจิตใจให้คนทุกๆหมู่เหล่า ทุกๆวัย ทุกๆภาคส่วนทุกๆความเห็นต่างๆในความคิดความเชื่อ อยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุข อยู่ด้วยกันได้อย่างไม่ต้องมีการใช้ถ้อยคำที่ดูถูกเหยียดหยาม ข่มขู่ทำร้ายซึ่งกันและกัน”

“..ผมถือว่าปัญหาเรื่องเศรษฐกิจแก้ได้ ไม่อยากจะบอกว่าแก้ง่ายกว่า แต่มั่นใจในนโยบายของรัฐบาลนี้ เรามั่นใจศักยภาพของคนไทยทั้งประเทศไม่ว่าจะอยู่ในประเทศหรือนอกประเทศ แต่เรื่องของการความเห็นต่างทางความคิด เรื่องของการเคารพในสิทธิซึ่งกันและกัน เป็นเรื่องที่อาจใช้เวลา ต้องใช้นโยบายต่างๆ มาช่วยเหลือ มาพูดคุยกันในพื้นที่ที่ปลอดภัยนะครับ ..”

ชาวชุมชนไทยในนครนิวยอร์ก และหลายรัฐในอเมริกา หลายคนแสดงความตื่นเต้นที่ได้มาสัมผัสและพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย ขณะที่บางคนใช้โอกาสสอบถามถึงนโยบายหรือแนวทางด้านต่างๆกับผู้นำรัฐบาลโดยตรง

อาชวีร์ แจ่มจันทร์ ธรรมวาสี อาจารย์ระดับอุดมศึกษาจากนครชิคาโก กล่าวว่าแม้จะเป็นช่วงเริ่มต้นเข้ามาบริหารประเทศทำให้ยังไม่คาดหวังผลมากนัก

“..คาดหวังไหม?? อันนี้ตอบไม่ได้ค่ะเพราะว่าเรายังไม่รู้ว่ารัฐบาลอาจจะมีนโยบายที่ดีแต่ว่าเมืองไทยพร้อมที่จะเปลี่ยนไหม? อันนี้เราไม่รู้ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้น แต่ว่า สเต็ปแรกเลยคือการเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงจากการที่เคยเป็น เพราะฉะนั้นนี่ก็คือก้าวแรกแล้ว เราก็คอยดูกันต่อไป มันจะมีการเปลี่ยนแปลงไหม ดีไม่ดีค่อยว่ากัน..” อาชวีร์​ กล่าว

ชานนท์ เปรมอ่อน นักธุรกิจจากนครนิวยอร์ก บอกว่าการได้มารับฟังนโยบายและวิสัยทัศน์ต่างๆ ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีของผู้นำประเทศคนใหม่

“คือประทับใจครับ เพราะว่าท่านได้เอ่ยว่า ทุกอย่างที่ท่านทำก็เกี่ยวกับประชาชน ทำเพื่อประชาชนนะครับ ก็คิดว่า ท่านเน้นสาเหตุตรงนี้เยอะมาก ว่าจะทำเพื่อประชาชน เพราะฉะนั้นการที่ทำเพื่อประชาชน มันก็มีทั้งด้านธุรกิจด้านการเป็นอยู่ด้านการปรองดองของพี่น้องไทยนะครับ ก็คิดว่าท่านผู้ได้พอยท์ที่ ดีมากครับ ผมคนไทยเนี่ยเป็นคนที่ support อยู่แล้วเราเป็นคนที่ support ด้วยกันไม่ว่าจะเป็นเอ่อศาสนาไหนตลอดเวลาเพราะฉะนั้นเอ่อ support อย่างเดียวครับ” นักธุรกิจ จากนิวยอร์ก กล่าว กับ “วีโอเอ ไทย”

ด้านกฤติกา ขวัญใจธัญญา นักธุรกิจชาวไทยจากนครนิวยอร์ก บอกว่า เธอติดตามข่าวสารมาตลอดและขอเป็นกำลังใจให้นายกฯคนใหม่

“เราดูเราติดตามข่าวตลอดนะคะก็ท่านก็พูดดีนะคะก็โอเคก็เป็นกำลังใจให้ท่าน..แต่ไม่รู้มีบางอย่างจะพูดได้ไหมจริงๆอยากจะถามท่านพี่ว่าท่านให้สัมภาษณ์ข่าวบลูกเบิร์ก (Bloomberg) ว่าถ้านายกทักษิณพ้นโทษมาท่านจะเชิญมาเป็นที่ปรึกษาอันนี้จริงเท็จแค่ไหน เรากะจะถามท่านแล้วจริงๆเตรียมกระดาษมาแล้วแต่ (ไม่มีโอกาสจะถาม) ก็เลยไม่ได้ถามค่ะ..เพราะว่าจริงๆขอให้ตรงไปตรงมา และ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พอและจบนะคะก็เราต้องมี 3 สถาบันนี้นะคะก็ขอฝากเขายังไงก็เป็นกำลังใจให้นายกนะคะสู้ๆค่ะ..” กฤติกา กล่าวหลังจากได้ร่วมงาน พบปะนายกรัฐมนตรีที่นครนิวยอร์ก

นอกเหนือจากภารกิจที่อัดแน่นจากการประชุมเกี่ยวกับนโยบายโลกระดับผู้นำในวาระต่างๆที่สหประชาชาติ แล้ว สิ่งที่เห็นได้ชัด คือการมุ่งเน้นพบปะภาคธุรกิจและเอกชนชั้นนำในสหรัฐฯ โดยทางการไทยได้เชิญภาคธุรกิจเอกชนชั้นนำจากเมืองไทย เข้าร่วมหารือเพื่อสานเครือข่ายธุรกิจด้วยความมุ่งหวังที่จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้น

“จีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวม) ของประเทศไทย ไม่มีทางยกระดับขึ้นไป ระดับ 5-7 เปอร์เซ็นต์ได้ ถ้าเกิดเราไม่มีการลงทุน การเพิ่มรายได้จากการเกษตร การพักหนี้เกษตรกร การนำนักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างเยอะๆ ยังไงก็ไม่สามารถเพิ่มขี้นได้ ถ้าเราไม่มีการลงทุน วันที่ทางเลขาธิการบีโอเอ (สนง.คกก ส่งเสริมการลงทุน) ก็มาด้วย ทำงานใกล้ชิดโดยตรงกับท่านรองนายกฯปานปรีย์ (พหิทธานุกร) กับผม กับภาคเอกชน ในการที่จะเชื้อเชิญให้บริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลก ไปลงทุนในประเทศไทย อะไรที่ทำได้ตามกรอบของกฎหมาย เรายินดี เรามีการพูดคุย เพราะฉะนั้นจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยะ ของรัฐบาลนี้ในการเพิ่มเงินลงทุนโดยต่างประเทศ ที่จะเข้ามาในประเทศไทย..”

การเดินทางเยือนต่างประเทศในภารกิจการประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่นครนิวยอร์กของนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 30 ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้เพียงไม่กี่วัน ถือเป็นโอกาสของการเปิดตัวอย่างเป็นทางการต่อเวทีผู้นำในระดับนานาชาติไปโดยปริยาย แต่ขณะเดียวกันความท้าทายที่แท้จริงยังคงต้องรอพิสูจน์ผลงานของรัฐบาลใหม่ ที่จะนำนโยบายต่างๆสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่

อ้างอิง: VOA Thai

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *