°
, October 6, 2024 in
Breaking News
ความตึงเครียดระหว่างจีนและชาติตะวันตก กระทบตลาดโลกอย่างไร
 – News24
ข่าวระดับโลก
0

ความตึงเครียดระหว่างจีนและชาติตะวันตก กระทบตลาดโลกอย่างไร – News24

ความตึงเครียดระหว่างชาติตะวันตกและจีนที่ยกระดับขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้นกำลังส่งผลกระทบออกมาในหลายรูปแบบ ตั้งแต่การที่ต่างฝ่ายต่างตั้งกำแพงภาษีของตนขึ้นมา ไปจนถึงการเร่งแข่งขันด้านเทคโนโลยีและการกล่าวหาว่ามีการขโมยข้อมูลของกันและกัน

ในขณะนี้ สภาพการณ์ดังกล่าวก็ได้ขยายตัวขึ้นมาอย่างชัดเจนถึงระดับที่ทั้งกรุงวอชิงตันและกรุงปักกิ่งต่างมุ่งมั่นที่จะไม่พึ่งพาอีกฝ่ายในด้านห่วงโซ่อุปทานดังที่เป็นมาตลอดหลายสิบปี

แต่ขณะที่ เรื่องนี้ก็อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยพุ่งสูง ประเทศเกิดใหม่และธุรกิจเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั้งหลายอาจได้ส้มหล่นจากการยืนข้างเคียงฝั่งที่จะมีชัยในศึกครั้งนี้ก็เป็นได้

รอยเตอร์ วิเคราะห์ผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวต่อตลาดโลกออกมาได้ดังนี้

1. เงินเฟ้อ

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แสดงความมุ่งมั่นที่จะดึงภาคการผลิตในหมวดที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ เช่น อุตสาหกรรมรถไฟฟ้าและเซมิคอนดักเตอร์ ให้กลับมาตั้งฐานในสหรัฐฯ ให้ได้ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในยุโรปกับบริษัท TSMC ของไต้หวันซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปประมวลผลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังเยอรมนี เพื่อจะได้กระจายความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทานออกมาจากจีน



ความตึงเครียดระหว่างจีนและชาติตะวันตก กระทบตลาดโลกอย่างไร
 – News24


SEE ALSO:

คำสั่งแบนการส่งออกชิปคอมพิวเตอร์สหรัฐฯ จ่อกระทบธุรกิจเทคโนโลยีจีน

แต่งานวิจัยของบริษัท Goldman Sachs พบว่า การย้ายฐานการผลิตใด ๆ เข้ามาในประเทศอาจส่งผลให้เกิดปัญหาด้านเงินเฟ้อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากภาคการผลิตของประเทศตะวันตกไม่สามารถเร่งทำการผลิตให้มากพอที่จะชดเชยการนำเข้าที่หดตัวลงได้

นอกจากนั้น ภาวะเงินเฟ้อสูงที่ยังดำเนินอยู่ในสหรัฐฯ ยังส่งสัญญาณที่ว่า อัตราดอกเบี้ยในประเทศจะทรงตัวในระดับสูงต่อไปอีกสักพักเพื่อหนุนค่าเงินดอลลาร์

ขณะเดียวกัน ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งตัวอาจส่งผ่านแรงกดดันเงินเฟ้อไปยังประเทศที่นำเข้าในยุโรป ด้วยการบีบให้ประเทศเหล่านั้นต้องควักเงินจ่ายค่าสินค้าที่สูงขึ้นในรูปของดอลลาร์

ในเวลานี้ ธนาคารกลางในหลายประเทศตั้งเป้าเงินเฟ้อของตนไว้ที่ 2% ขณะที่ ตลาดเก็งว่า อัตราเงินเฟ้อระยะยาวในสหรัฐฯ และยุโรปน่าจะอยู่สูงกว่านั้น

2. คบค้าแต่หมู่มิตร (Friendshoring)

รัฐบาลกรุงวอชิงตันกำลังเดินหน้านโยบาย “คบค้าแต่หมู่มิตร” หรือ friendshoring ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการทดแทนจีนในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานด้วยประเทศที่เป็นมิตรกับตนมากกว่า

งานวิจัยโดย ลอรา อัลฟาโร จาก Harvard Business School ระบุว่า เวียดนามและเม็กซิโกจะเป็นผู้รับผลประโยชน์รายใหญ่จากการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายซัพพลายเออร์ของสหรัฐฯ

ขณะเดียวกัน มองโกเลียก็พยายามเชิญชวนสหรัฐฯ ให้มาลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่หายาก (rare earth) รวมทั้งวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิตสินค้าไฮเทค เช่น สมาร์ทโฟน ส่วนฟิลิปปินส์ก็พยายามเกี้ยวสหรัฐฯ ให้มาลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานของตนอยู่เช่นกัน

แอนนา โรเซนเบิร์ก หัวหน้าส่วนงานภูมิศาสตร์การเมืองของ Amundi Investment Institute กล่าวว่า ภาวะตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ นำมาซึ่งสิ่งที่เป็นเหมือน “เลนส์แว่นชุดใหม่” เพื่อใช้วิเคราะห์ศักยภาพของการขยายตัวในตลาดเกิดใหม่ทั้งหลาย

3. ถนนทุกสายมุ่งไปอินเดีย

อินเดียนั้นถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีความสามารถมากที่สุดที่จะแข่งกับจีนในภาคการผลิตที่มีขนาดใหญ่แต่ใช้ต้นทุนต่ำ ขณะที่ ประชากรที่มีอายุน้อยของประเทสซึ่งมีอยู่สูงมากและชนชั้นกลางที่กำลังขยายตัวอยู่ยังเป็นโอกาสให้กับบริษัทข้ามชาติต่าง ๆ ละความสนใจในจีนและหันมามองอินเดียแทนด้วย



Indian President Ram Nath Kovind, left, shakes hands with Vietnamese President Nguyen Phu Trong before heading for talks behind closed doors in Hanoi, Vietnam, Tuesday, Nov. 20, 2018.


SEE ALSO:

วิเคราะห์: เมื่อ ‘อินเดีย’ จับมือ ‘เวียดนาม’ คานอำนาจจีนในทะเลจีนใต้

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นอินเดียทะยานขึ้นมาแล้ว 8% และนักลงทุนที่หลั่งไหลมาลงทุนในตลาดพันธบัตรของประเทศก็ยิ่งคึกคักขึ้นอีกหลังบริษัท เจพี มอร์แกน เผยแผนที่จะรวมเอาอินเดียเข้ามาอยู่ในการคำนวณดัชนีพันธบัตรรัฐบาลของตนในปีหน้า

คริสโตเฟอร์ รอสส์บัค ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายจัดการการลงทุนของบริษัทจัดการสินทรัพย์ J.Stern ให้ความเห็นว่า “อินเดียคือโอกาสสำหรับการลงทุนครั้งใหญ่มาก ๆ” และว่า “บริษัทระดับโลกทั้งหลายที่เราร่วมลงทุนไว้ก็กำลังเร่งดำเนินการด้านนี้อยู่”

ธนาคารกลางอินเดียคาดการณ์ไว้ว่า เศรษฐกิจของประเทศจะขยายตัว 6.5% ในปีนี้ ขณะที่ จีนคาดว่า เศรษฐกิจของตนจะขยายตัวราว 5%

ธนาคาร Barclays ชี้ว่า ถ้าหากอินเดียสามารถกระตุ้นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของตนให้ถึงระดับ 8% ภายในช่วง 5 ปีจากนี้ อินเดียก็จะกลายสภาพมาเป็นผู้มีบทบาทรายใหญ่ที่สุดในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก

4. ตั้งแต่ ‘ชิป’ ไปถึง ‘แฟชั่นแบรนด์เนม’

การปะทะกันระหว่างจีนและตะวันตกนำมาซึ่งทั้งผู้ชนะและผู้แพ้จากทั้งสองฝ่าย

ในด้านหนึ่ง ขณะที่สหภาพยุโรปกำลังทำการสอบสวนเพื่อตัดสินใจว่า จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มจากรถไฟฟ้าที่ส่งออกมาจากจีนที่สงสัยว่า ได้รับการอุดหนุนเกินความจำเป็นจากรัฐบาลอยู่ดีหรือไม่ มีสัญญาณว่า จีนอาจเริ่มหรือกำลังจะทำการตอบโต้ชาติตะวันตกอยู่ เช่นกรณีของหุ้นบริษัทแอปเปิล (Apple) ที่ร่วงกว่า 6% ในช่วง 2 วันเมื่อต้นเดือนกันยายน หลังมีรายงานว่า กรุงปักกิ่งจะสั่งห้ามลูกจ้างรัฐบาลไม่ให้ใช้โทรศัพท์ไอโฟน



ภาพร้านแอปเปิลสโตร์ ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน


SEE ALSO:

ทางการจีนเร่งดำเนินการห้ามลูกจ้างรัฐใช้ไอโฟน

จุดนี้เป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์มองว่า เป็นเพราะการขยายตัวของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของสหรัฐฯ และของบริษัทชั้นนำอื่น ๆ จากทั่วโลกที่อาจทำให้หุ้นของบริษัทเหล่านี้ตกเป็นเป้าการเอาคืนของจีนได้ โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ เองก็ให้การสนับสนุนภาคการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศจนทำให้ราคาหุ้นของบริษัทต่าง ๆ เช่น อินเทล (Intel) พุ่งขึ้นไปแล้ว

นอกจากนั้น การที่จีนได้ชื่อว่า เป็นผู้บริโภคสินค้าหรูหราฟุ่มเฟือยรายใหญ่ของโลก ทำให้บริษัทแฟชั่นต่าง ๆ ของยุโรปตกเป็นเหยื่อภาวะตึงเครียดทางการเมืองไปด้วยโดยปริยาย เพราะหน่วยงานปราบปรามคอร์รัปชันของจีนได้ประกาศคำมั่นออกมาก่อนหน้านี้ว่า จะทำการกำจัดสิ่งที่กรุงปักกิ่งมองว่า เป็นความสุขสบายอู้ฟูของผู้มีฐานะในตะวันตก ออกไปให้หมด ซึ่งส่งผลให้ธนาคารทั้งหลายของจีนสั่งพนักงานของตนไม่ให้ใช้สินค้าหรูหราฟุ่มเฟือยของยุโรปในที่ทำงาน เป็นต้น

เมื่อครั้งที่จีนสั่งผ่อนคลายมาตรการจำกัดต่าง ๆ เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 เมื่อต้นปีนี้ ราคาหุ้นของบริษัทสินค้าหรูหราพุ่งสูงขึ้นทันที แต่หลังเศรษฐกิจของจีนเริ่มซวนเซและเกิดความตึงเครียดกับประเทศตะวันตกเพิ่มขึ้น ราคาหุ้นทั้งหลายที่ว่าก็ร่วงลงไป โดยรายงานข่าวระบุว่า ราคาหุ้นของบริษัทสินค้าหรูหราจากยุโรปหดตัวลงไปถึง 16% ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

5. ทำอย่างไรกับหุ้นจีนดี?

สภาพเศรษฐกิจของจีนที่ง่อนแง่นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ปั่นป่วนทำให้สภาพการลงทุนของจีนยิ่งตกต่ำหนักไปอีก ขณะที่ แผนการของกรุงปักกิ่งในการเรียกเก็บภาษีจากสินค้าตะวันตกและการหาทางหลบเลี่ยงมาตรการจำกัดของสหรัฐฯ ต่อการลงทุนในภาคเทคโนโลยีของประเทศก็ไม่ได้ช่วยให้รูปการณ์ต่าง ๆ ดูดีขึ้นเลย

และขณะที่ หุ้นของบริษัทจีนในตลาดหุ้นโลกดูน่าผิดหวัง นักลงทุนก็เริ่มแบ่งเป็นสองฝ่ายที่มีความเห็นต่างกันเกี่ยวกับสภาพการณ์ในเวลานี้

  • ที่มา: รอยเตอร์

(ที่มา: VOA)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *