ความตึงเครียดระหว่างชาติตะวันตกและจีนที่ยกระดับขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้นกำลังส่งผลกระทบออกมาในหลายรูปแบบ ตั้งแต่การที่ต่างฝ่ายต่างตั้งกำแพงภาษีของตนขึ้นมา ไปจนถึงการเร่งแข่งขันด้านเทคโนโลยีและการกล่าวหาว่ามีการขโมยข้อมูลของกันและกัน
ในขณะนี้ สภาพการณ์ดังกล่าวก็ได้ขยายตัวขึ้นมาอย่างชัดเจนถึงระดับที่ทั้งกรุงวอชิงตันและกรุงปักกิ่งต่างมุ่งมั่นที่จะไม่พึ่งพาอีกฝ่ายในด้านห่วงโซ่อุปทานดังที่เป็นมาตลอดหลายสิบปี
แต่ขณะที่ เรื่องนี้ก็อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยพุ่งสูง ประเทศเกิดใหม่และธุรกิจเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั้งหลายอาจได้ส้มหล่นจากการยืนข้างเคียงฝั่งที่จะมีชัยในศึกครั้งนี้ก็เป็นได้
รอยเตอร์ วิเคราะห์ผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวต่อตลาดโลกออกมาได้ดังนี้
1. เงินเฟ้อ
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แสดงความมุ่งมั่นที่จะดึงภาคการผลิตในหมวดที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ เช่น อุตสาหกรรมรถไฟฟ้าและเซมิคอนดักเตอร์ ให้กลับมาตั้งฐานในสหรัฐฯ ให้ได้ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในยุโรปกับบริษัท TSMC ของไต้หวันซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปประมวลผลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังเยอรมนี เพื่อจะได้กระจายความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทานออกมาจากจีน
SEE ALSO:
คำสั่งแบนการส่งออกชิปคอมพิวเตอร์สหรัฐฯ จ่อกระทบธุรกิจเทคโนโลยีจีน
แต่งานวิจัยของบริษัท Goldman Sachs พบว่า การย้ายฐานการผลิตใด ๆ เข้ามาในประเทศอาจส่งผลให้เกิดปัญหาด้านเงินเฟ้อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากภาคการผลิตของประเทศตะวันตกไม่สามารถเร่งทำการผลิตให้มากพอที่จะชดเชยการนำเข้าที่หดตัวลงได้
นอกจากนั้น ภาวะเงินเฟ้อสูงที่ยังดำเนินอยู่ในสหรัฐฯ ยังส่งสัญญาณที่ว่า อัตราดอกเบี้ยในประเทศจะทรงตัวในระดับสูงต่อไปอีกสักพักเพื่อหนุนค่าเงินดอลลาร์
ขณะเดียวกัน ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งตัวอาจส่งผ่านแรงกดดันเงินเฟ้อไปยังประเทศที่นำเข้าในยุโรป ด้วยการบีบให้ประเทศเหล่านั้นต้องควักเงินจ่ายค่าสินค้าที่สูงขึ้นในรูปของดอลลาร์
ในเวลานี้ ธนาคารกลางในหลายประเทศตั้งเป้าเงินเฟ้อของตนไว้ที่ 2% ขณะที่ ตลาดเก็งว่า อัตราเงินเฟ้อระยะยาวในสหรัฐฯ และยุโรปน่าจะอยู่สูงกว่านั้น
2. คบค้าแต่หมู่มิตร (Friendshoring)
รัฐบาลกรุงวอชิงตันกำลังเดินหน้านโยบาย “คบค้าแต่หมู่มิตร” หรือ friendshoring ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการทดแทนจีนในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานด้วยประเทศที่เป็นมิตรกับตนมากกว่า
งานวิจัยโดย ลอรา อัลฟาโร จาก Harvard Business School ระบุว่า เวียดนามและเม็กซิโกจะเป็นผู้รับผลประโยชน์รายใหญ่จากการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายซัพพลายเออร์ของสหรัฐฯ
ขณะเดียวกัน มองโกเลียก็พยายามเชิญชวนสหรัฐฯ ให้มาลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่หายาก (rare earth) รวมทั้งวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิตสินค้าไฮเทค เช่น สมาร์ทโฟน ส่วนฟิลิปปินส์ก็พยายามเกี้ยวสหรัฐฯ ให้มาลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานของตนอยู่เช่นกัน
แอนนา โรเซนเบิร์ก หัวหน้าส่วนงานภูมิศาสตร์การเมืองของ Amundi Investment Institute กล่าวว่า ภาวะตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ นำมาซึ่งสิ่งที่เป็นเหมือน “เลนส์แว่นชุดใหม่” เพื่อใช้วิเคราะห์ศักยภาพของการขยายตัวในตลาดเกิดใหม่ทั้งหลาย
3. ถนนทุกสายมุ่งไปอินเดีย
อินเดียนั้นถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีความสามารถมากที่สุดที่จะแข่งกับจีนในภาคการผลิตที่มีขนาดใหญ่แต่ใช้ต้นทุนต่ำ ขณะที่ ประชากรที่มีอายุน้อยของประเทสซึ่งมีอยู่สูงมากและชนชั้นกลางที่กำลังขยายตัวอยู่ยังเป็นโอกาสให้กับบริษัทข้ามชาติต่าง ๆ ละความสนใจในจีนและหันมามองอินเดียแทนด้วย
SEE ALSO:
วิเคราะห์: เมื่อ ‘อินเดีย’ จับมือ ‘เวียดนาม’ คานอำนาจจีนในทะเลจีนใต้
ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นอินเดียทะยานขึ้นมาแล้ว 8% และนักลงทุนที่หลั่งไหลมาลงทุนในตลาดพันธบัตรของประเทศก็ยิ่งคึกคักขึ้นอีกหลังบริษัท เจพี มอร์แกน เผยแผนที่จะรวมเอาอินเดียเข้ามาอยู่ในการคำนวณดัชนีพันธบัตรรัฐบาลของตนในปีหน้า
คริสโตเฟอร์ รอสส์บัค ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายจัดการการลงทุนของบริษัทจัดการสินทรัพย์ J.Stern ให้ความเห็นว่า “อินเดียคือโอกาสสำหรับการลงทุนครั้งใหญ่มาก ๆ” และว่า “บริษัทระดับโลกทั้งหลายที่เราร่วมลงทุนไว้ก็กำลังเร่งดำเนินการด้านนี้อยู่”
ธนาคารกลางอินเดียคาดการณ์ไว้ว่า เศรษฐกิจของประเทศจะขยายตัว 6.5% ในปีนี้ ขณะที่ จีนคาดว่า เศรษฐกิจของตนจะขยายตัวราว 5%
ธนาคาร Barclays ชี้ว่า ถ้าหากอินเดียสามารถกระตุ้นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของตนให้ถึงระดับ 8% ภายในช่วง 5 ปีจากนี้ อินเดียก็จะกลายสภาพมาเป็นผู้มีบทบาทรายใหญ่ที่สุดในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก
4. ตั้งแต่ ‘ชิป’ ไปถึง ‘แฟชั่นแบรนด์เนม’
การปะทะกันระหว่างจีนและตะวันตกนำมาซึ่งทั้งผู้ชนะและผู้แพ้จากทั้งสองฝ่าย
ในด้านหนึ่ง ขณะที่สหภาพยุโรปกำลังทำการสอบสวนเพื่อตัดสินใจว่า จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มจากรถไฟฟ้าที่ส่งออกมาจากจีนที่สงสัยว่า ได้รับการอุดหนุนเกินความจำเป็นจากรัฐบาลอยู่ดีหรือไม่ มีสัญญาณว่า จีนอาจเริ่มหรือกำลังจะทำการตอบโต้ชาติตะวันตกอยู่ เช่นกรณีของหุ้นบริษัทแอปเปิล (Apple) ที่ร่วงกว่า 6% ในช่วง 2 วันเมื่อต้นเดือนกันยายน หลังมีรายงานว่า กรุงปักกิ่งจะสั่งห้ามลูกจ้างรัฐบาลไม่ให้ใช้โทรศัพท์ไอโฟน
SEE ALSO:
ทางการจีนเร่งดำเนินการห้ามลูกจ้างรัฐใช้ไอโฟน
จุดนี้เป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์มองว่า เป็นเพราะการขยายตัวของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของสหรัฐฯ และของบริษัทชั้นนำอื่น ๆ จากทั่วโลกที่อาจทำให้หุ้นของบริษัทเหล่านี้ตกเป็นเป้าการเอาคืนของจีนได้ โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ เองก็ให้การสนับสนุนภาคการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศจนทำให้ราคาหุ้นของบริษัทต่าง ๆ เช่น อินเทล (Intel) พุ่งขึ้นไปแล้ว
นอกจากนั้น การที่จีนได้ชื่อว่า เป็นผู้บริโภคสินค้าหรูหราฟุ่มเฟือยรายใหญ่ของโลก ทำให้บริษัทแฟชั่นต่าง ๆ ของยุโรปตกเป็นเหยื่อภาวะตึงเครียดทางการเมืองไปด้วยโดยปริยาย เพราะหน่วยงานปราบปรามคอร์รัปชันของจีนได้ประกาศคำมั่นออกมาก่อนหน้านี้ว่า จะทำการกำจัดสิ่งที่กรุงปักกิ่งมองว่า เป็นความสุขสบายอู้ฟูของผู้มีฐานะในตะวันตก ออกไปให้หมด ซึ่งส่งผลให้ธนาคารทั้งหลายของจีนสั่งพนักงานของตนไม่ให้ใช้สินค้าหรูหราฟุ่มเฟือยของยุโรปในที่ทำงาน เป็นต้น
เมื่อครั้งที่จีนสั่งผ่อนคลายมาตรการจำกัดต่าง ๆ เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 เมื่อต้นปีนี้ ราคาหุ้นของบริษัทสินค้าหรูหราพุ่งสูงขึ้นทันที แต่หลังเศรษฐกิจของจีนเริ่มซวนเซและเกิดความตึงเครียดกับประเทศตะวันตกเพิ่มขึ้น ราคาหุ้นทั้งหลายที่ว่าก็ร่วงลงไป โดยรายงานข่าวระบุว่า ราคาหุ้นของบริษัทสินค้าหรูหราจากยุโรปหดตัวลงไปถึง 16% ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้
5. ทำอย่างไรกับหุ้นจีนดี?
สภาพเศรษฐกิจของจีนที่ง่อนแง่นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ปั่นป่วนทำให้สภาพการลงทุนของจีนยิ่งตกต่ำหนักไปอีก ขณะที่ แผนการของกรุงปักกิ่งในการเรียกเก็บภาษีจากสินค้าตะวันตกและการหาทางหลบเลี่ยงมาตรการจำกัดของสหรัฐฯ ต่อการลงทุนในภาคเทคโนโลยีของประเทศก็ไม่ได้ช่วยให้รูปการณ์ต่าง ๆ ดูดีขึ้นเลย
และขณะที่ หุ้นของบริษัทจีนในตลาดหุ้นโลกดูน่าผิดหวัง นักลงทุนก็เริ่มแบ่งเป็นสองฝ่ายที่มีความเห็นต่างกันเกี่ยวกับสภาพการณ์ในเวลานี้
- ที่มา: รอยเตอร์
(ที่มา: VOA)